ผู้เขียน หัวข้อ: หมอออนไลน์: ตะกั่วเป็นพิษ (Lead poisoning)  (อ่าน 59 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 792
  • สินค้าโปรโมชั่น โพสขายฟรี
    • ดูรายละเอียด
หมอออนไลน์: ตะกั่วเป็นพิษ (Lead poisoning)
« เมื่อ: วันที่ 15 ตุลาคม 2024, 16:57:25 น. »
หมอออนไลน์: ตะกั่วเป็นพิษ (Lead poisoning)

ตะกั่ว เป็นสารโลหะหนักที่ร่างกายรับเข้าไปในปริมาณมากเกินอาจมีพิษต่อระบบประสาทและสมอง และระบบต่าง ๆ เรียกว่า ภาวะตะกั่วเป็นพิษ ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้เป็นครั้งคราว ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

สาเหตุ

เกิดจากการสูดไอตะกั่ว หรือกินหรือสัมผัสสารตะกั่ว (ดูดซึมผ่านผิวหนัง) เป็นเวลานาน จนร่างกายมีการสะสมสารตะกั่วถึงระดับที่เป็นพิษ

มักเกิดจากการประกอบอาชีพในโรงงานที่มีสารตะกั่ว หรือเกิดจากความประมาทเลินเล่อ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือเกิดจากการเล่นซนของเด็ก ๆ

ในบ้านเราอาจพบการรับพิษสารตะกั่วจากแหล่งต่าง ๆ เช่น

1. ทำงานในโรงงานทำแบตเตอรี่หรือถ่านไฟฉาย ร้านอัดแบตเตอรี่ หรือขายแบตเตอรี่ ร้านเจียระไนเพชรพลอย (ซึ่งมีเครื่องมือที่มีตะกั่วเป็นส่วนประกอบ) โรงพิมพ์ที่ใช้ตัวพิมพ์ทำจากสารตะกั่ว ร้านเชื่อมโลหะ เป็นต้น

2. ใช้เปลือกแบตเตอรี่ที่ทิ้งแล้วมาเป็นเชื้อเพลิงเคี่ยวน้ำตาล หรือมาปูลาดเป็นทางเดิน

3. ดื่มน้ำที่มีสารตะกั่วเจือปน เช่น น้ำจากบ่อที่แปดเปื้อนสารตะกั่ว หรือน้ำจากท่อที่มีส่วนผสมของตะกั่วมากเกินไป

4. สีทาบ้านและสีที่ใช้ทาของเล่นที่มีสารตะกั่วเจือปน เด็กอาจหยิบกินโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

5. แป้งทาเด็กที่มีสารตะกั่วเจือปน (เช่น ร้านขายยานำแป้งที่ใช้ผสมสีทาบ้านมาขายเป็นแป้งทาแก้ผดผื่นคัน) ผู้ปกครองซื้อมาทาเด็กโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์จนเกิดพิษตะกั่วเรื้อรัง

บางครั้งอาจเป็นกันทั้งครอบครัวหรือทั้งหมู่บ้าน หรือทั้งโรงงาน ถ้าหากมีการรับสารตะกั่วจากแหล่งเดียวกัน เช่น ดื่มน้ำจากบ่อเดียวกัน หรือทำงานในโรงงานเดียวกัน


อาการ

ผู้ป่วยอาจแสดงอาการได้หลายอย่าง เช่น ปวดบิดในท้องอย่างรุนแรงโดยหาสาเหตุไม่พบ ร่วมกับอาการท้องผูก หรือไม่ก็ถ่ายเป็นเลือด

อาจมีอาการซีด เนื่องจากเม็ดเลือดแดงถูกทำลายเร็วขึ้น และสร้างได้น้อยเนื่องจากพิษของตะกั่วที่มีต่อระบบเลือด

อาจมีอาการปลายประสาทอักเสบ ซึ่งจะพบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก ที่พบได้บ่อย คือ ประสาทมือเป็นอัมพาต ทำให้ข้อมือตก เหยียดไม่ขึ้น และประสาทเท้าเป็นอัมพาต ทำให้ปลายเท้าตก เดินขาปัด

ที่ร้ายแรง ได้แก่ ภาวะผิดปกติทางสมอง ซึ่งจะพบมากในเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ส่วนผู้ใหญ่พบได้น้อย เด็กจะมีอาการเดินเซ อาเจียน ซึม เพ้อ บุคลิกภาพเปลี่ยนไปจากเดิมนำมาก่อน แล้วจะมีอาการชักและหมดสติ ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาก็มักจะเสียชีวิตในที่สุด หรือไม่ก็อาจกลายเป็นสมองพิการและปัญญาอ่อน

ส่วนในรายที่มีพิษตะกั่วเรื้อรัง อาจมีอาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ หงุดหงิด เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ ขาเป็นตะคริว

บางรายอาจพบรอยสีเทา ๆ ดำ ๆ ของสารตะกั่วที่ขอบเหงือก ในผู้ที่ไม่มีฟันจะไม่พบอาการนี้ และในเด็กก็มีโอกาสพบอาการดังกล่าวได้น้อย


ภาวะแทรกซ้อน

อาจมีภาวะสมองพิการ ปัญญาอ่อน ภาวะโลหิตจาง


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ และทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจดูระดับตะกั่วในเลือด (พบสูงกว่า 80 ไมโครกรัม/เลือด 100 มล.) และในปัสสาวะ (พบสูงกว่า 1 มก./ปัสสาวะ 24 ชั่วโมง) สารคอโพรพอร์ไฟริน (coproporphyrin) ในปัสสาวะจะมีค่าสูงกว่า 50 ไมโครกรัม/ปัสสาวะ 100 มล.

การตรวจดูเม็ดเลือดแดง จะพบลักษณะที่เรียกว่า basophilic stippling

การตรวจเอกซเรย์ อาจพบรอยทึบแสงของสารตะกั่วในลำไส้ และรอยสะสมของตะกั่วที่ปลายกระดูกแขนขา


การรักษาโดยแพทย์

การรักษา มักจะฉีดยาขับตะกั่ว ได้แก่ ไดเมอร์เเคปรอล (dimercaprol) ร่วมกับแคลเซียมไดโซเดียมอีดีเทต (calcium disodium edetate)

เมื่ออาการดีขึ้น ควรให้กินเพนิซิลลามีน (penicillamine) ต่ออีก 1-2 เดือน (ในผู้ใหญ่) หรือ 3-6 เดือน (ในเด็ก)

ผลการรักษา ถ้าไม่มีอาการทางสมอง ก็มักจะหายเป็นปกติได้ แต่ถ้ามีอาการทางสมอง อาจมีอันตรายถึงทุพพลภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพบในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี อาจมีอัตราตายถึงร้อยละ 25

การดูแลตนเอง

หากสงสัยมีอาการจากตะกั่วเป็นพิษ เช่น ปวดท้องหรือซีดโดยหาสาเหตุไม่พบ ข้อมือตก ข้อเท้าตก เดินเซ บุคลิกภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เพ้อ ชัก เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์ 

เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคตะกั่วเป็นพิษ ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ 
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด

ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลา 
    ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ

การป้องกัน

1. ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับสารตะกั่ว (เช่น โรงงานแบตเตอรี่) ควรหามาตรการป้องกันโดยการจัดสภาพการทำงานให้ปลอดภัย (เช่น มีเสื้อคลุมป้องกันพิษตะกั่ว มีอ่างน้ำและห้องอาบน้ำพอเพียง มีทางระบายไม่ให้มีการสะสมของฝุ่นตะกั่ว) ห้ามสูบบุหรี่และกินอาหารในห้องที่มีสารตะกั่ว และควรมีการตรวจระดับตะกั่วในเลือดและปัสสาวะทุก 6 เดือน ถ้าพบว่าระดับตะกั่วสูงควรให้หยุดงาน หรือเปลี่ยนไปทำงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับสารตะกั่ว ถ้าสูงมากควรให้กินยาลดสารตะกั่ว ถึงแม้จะยังไม่มีอาการแสดงก็ตาม

2. ควรแนะนำให้ประชาชนทั่วไปทราบถึงอันตรายของตะกั่วเจือปนอยู่ในอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย สีทาบ้าน ของเล่นเด็ก เป็นต้น เพื่อป้องกันมิให้นำไปใช้ในทางที่ผิด ๆ หรือหาทางป้องกันมิให้เด็ก ๆ หยิบกินเล่นด้วยความไร้เดียงสาหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ข้อแนะนำ

1. โรคตะกั่วเป็นพิษอาจมีอาการได้หลายแบบ ดังนั้น ถ้าพบผู้ที่มีอาการปวดท้อง ซีด ข้อมือตก ข้อเท้าตก บุคลิกภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เพ้อ ชัก หรือหมดสติ ควรถามประวัติการเกี่ยวข้องกับสารตะกั่ว หากสงสัยควรไปส่งตรวจรักษาที่โรงพยาบาล

2. ผู้ที่มีอาการผิดปกติทางสมองเนื่องจากตะกั่วเป็นพิษ อยู่ ๆ อาจแสดงอาการแปลก ๆ เช่น เพ้อ คลุ้มคลั่ง ชัก ชาวบ้านอาจเข้าใจผิดว่าเกิดจาก "ผีเข้า" หรือ "วิกลจริต" แล้วพาไปรักษาทางไสยศาสตร์ ซึ่งมักจะเสียชีวิตลงอย่างน่าอนาถ ทางที่ดีควรหาทางชักจูงให้ไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาล เพราะมีทางรักษาให้หายได้