โรคเบาหวาน ไม่ใช่แค่น้ำตาลสูง เช็กสิ! อาการแบบไหนเป็นภาวะแทรกซ้อน ถ้าพูดถึง “โรคเบาหวาน” คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่ามีสาเหตุมาจากการกินอาหารที่มีรสหวาน หรือกินน้ำหวานมากๆ บ่อยๆ โดยที่ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วโรคเบาหวานนั้นเกิดได้จากการพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ดีได้ด้วย เช่น ไม่ออกกำลังกาย ปล่อยให้อ้วนหรือมีน้ำหนักตัวเกิน ชอบกินของทอด อาหารมันๆ ทำให้มีไขมันในเลือดสูง เหล่านี้ ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานได้เช่นกัน
ทำความรู้จัก “โรคเบาหวาน”
“เบาหวาน” เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของการทำงานของฮอร์โมนที่ชื่อว่า อินซูลิน (Insulin) ซึ่งโดยปกติแล้วร่างกายของคนเราจำเป็นต้องมีอินซูลิน เพื่อนำน้ำตาลในกระแสเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะสมองและกล้ามเนื้อ ในภาวะที่อินซูลินมีความผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นการลดลงของปริมาณอินซูลินในร่างกาย หรือการที่อวัยวะต่างๆ ของร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินลดลง (เรียกว่า ภาวะดื้ออินซูลิน) จะทำให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลที่อยู่ในกระแสเลือดไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีปริมาณน้ำตาลคงเหลือในกระแสเลือดมากกว่าปกติ หากน้ำตาลในกระแสเลือดสูงมากขึ้นถึงระดับหนึ่ง จะทำให้ไตซึ่งปกติจะมีหน้าที่ดูดกลับน้ำตาลจากสารที่ถูกกรองจากหน่วยไตไปใช้ ดูดกลับน้ำตาลได้ไม่หมด ส่งผลให้มีน้ำตาลรั่วออกมากับปัสสาวะ จึงเป็นที่มาของคำว่า “โรคเบาหวาน” หากเราปล่อยไว้ โดยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงตามมาในที่สุด
ระดับน้ำตาลในเลือดสูง เสี่ยงโรคร้ายมากกว่าที่คิด
ผู้ป่วยเบาหวาน หากปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากๆ ร่างกายจะไม่สามารถนำน้ำตาลมาเผาผลาญเป็นพลังงาน จึงต้องหันไปสลายไขมันตามผิวหนังมาใช้แทน ส่งผลให้ผู้ป่วยเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงๆ เกิดอาการ ปัสสาวะบ่อย หิวน้ำบ่อย น้ำหนักลด อ่อนเพลีย โดยอาการมักจะเกิดขึ้นช้าๆ หากปล่อยไว้จนเรื้อรัง อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น เบาหวานขึ้นตา เบาหวานลงไต โรคหัวใจ โรคสมอง แผลหายช้า ติดเชื้อได้ง่าย เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน
เมื่อมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติเป็นระยะเวลานาน น้ำตาลที่สูงจะส่งผลโดยตรงต่อหลอดเลือดทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่เกิดภาวะอักเสบ และภาวะหลอดเลือดอุดตันได้ง่ายกว่าคนปกติ นอกจากนี้ยังส่งผลต่อภาวะภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยในภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรังจะทำให้น้ำตาลส่วนเกินไปเกาะกับเม็ดเลือดขาวที่ใช้ต่อสู้กับเชื้อโรค ทำให้เม็ดเลือดขาวมีประสิทธิภาพลดลง ส่งผลให้เกิดภาวะติดเชื้อได้ง่าย
ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานที่เกิดกับอวัยวะต่างๆ
เมื่อเป็นเบาหวานนานๆ และไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนกับอวัยวะต่างๆ ได้ เช่น
ภาวะแทรกซ้อนที่ “ไต” เมื่อมีภาวะเบาหวานแทรกซ้อนที่ไต จะเกิดอาการ ปัสสาวะเป็นฟอง ตัวบวม อ่อนเพลีย คลื่นไส้ ซีด บางกรณีถ้ามีอาการรุนแรงอาจถึงขั้นไตวายต้องได้รับการฟอกไตได้
ภาวะแทรกซ้อนที่ “หัวใจ” เบาหวานที่เป็นระยะเวลานานเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบ ผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บ หน้าอก เหนือยง่าย นอนราบไม่ได้ ขาบวม
ภาวะแทรกซ้อนที่ “ตา” เรียกได้ว่าเป็นอวัยวะที่เกิดโรคแทรกซ้อนของเบาหวานได้บ่อย ซึ่งสามารถแบ่งออกได้หลายระยะ อาการเบาหวานขึ้นตาระยะแรกๆ อาจไม่มีอาการอะไรเลย แต่สามารถตรวจพบโดยการตรวจจอประสาทตา แต่ถ้าเป็นระยะรุนแรงสามารถทำให้ตาสูญเสียการมองเห็นได้
ภาวะแทรกซ้อนที่ “เท้า” ภาวะแผลที่เท้าก็พบบ่อยในโรคเบาหวาน ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจมีแผลเรื้อรัง แผลหายช้า บางรายเป็นแผลลุกลามอย่างรวดเร็ว ถ้ารุนแรงมากอาจถึงขั้นสูญเสียอวัยวะได้
ภาวะแทรกซ้อนที่ “เส้นประสาท” ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานเป็นระยะเวลานานอาจเกิดเส้นประสาทส่วนปลายเสื่อมได้ ซึ่งมักมีอาการ ชา ปลายมือ เท้า บางรายปวดแสบปวดร้อน เจ็บปวดคล้ายเข็มทิ่มได้
ภาวะแทรกซ้อนที่ “สมอง” เส้นเลือดเลี้ยงสมองก็พบการตีบได้บ่อยในโรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ดี ทำให้เกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตได้
จะเห็นได้ว่า โรคเบาหวานทำให้เกิดอาการได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่อาการที่เกิดจากระดับน้ำตาลสูงเอง หรืออาการที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของเบาหวาน อาการบางอย่างสังเกตพบได้ยากในระยะเริ่มต้น ดังนั้นการเจาะเลือดเพื่อตรวจระดับน้ำตาลเป็นประจำจึงมีประโยชน์ในการค้นหาโรคเบาหวาน จะได้รีบควบคุมระดับน้ำตาล หรือรักษาตามระยะของโรค เพื่อการมีคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีต่อไปอีกยาวนาน