ผู้เขียน หัวข้อ: โปรแกรมหมอประจำบ้านอัจริยะ: ACL Injury  (อ่าน 51 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 714
  • สินค้าโปรโมชั่น โพสขายฟรี
    • ดูรายละเอียด
โปรแกรมหมอประจำบ้านอัจริยะ: ACL Injury
« เมื่อ: วันที่ 3 ตุลาคม 2024, 12:13:29 น. »
โปรแกรมหมอประจำบ้านอัจริยะ: ACL Injury

ACL Injury คืออาการบาดเจ็บหรือฉีกขาดของเอ็นไขว้หน้าของข้อเข่า (Anterior Cruciate Ligament) ซึ่งเป็นหนึ่งในเส้นเอ็นหลักในหัวเข่า โดยมักเกิดขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนทิศทาง กระโดด หรือหยุดอย่างกะทันหัน ส่วนมากจะเกิดในขณะเล่นกีฬาอย่างฟุตบอลหรือบาสเกตบอล ทำให้ผู้ป่วยอาจได้ยินเสียงในข้อเข่า มีอาการปวดหรือบวมที่ข้อเข่า

การรักษา ACL Injury อาจแตกต่างกันความความรุนแรงของอาการ ผู้ป่วยอาจพักการใช้งานข้อเข่าและออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของข้อเข่า แต่บางรายอาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดและฟื้นฟูร่างกายร่วมด้วย ทั้งนี้ หากปล่อยให้เกิดอาการผิดปกติโดยไม่ทำการรักษาอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในภายหลัง


อาการ ACL Injury

สัญญาณหรืออาการของ ACL Injury ที่อาจพบได้มีดังนี้

    รู้สึกเจ็บปวดบริเวณข้อเข่า โดยอาจมีอาการปวดเข่ามากจนทำให้การลงน้ำหนักหรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันลำบากกว่าปกติ แต่บางรายอาจไม่รู้สึกเจ็บปวดหากมีอาการไม่รุนแรง
    หัวเข่าบวม มักเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงหลังได้รับบาดเจ็บ
    การเคลื่อนไหวข้อเข่าทำได้น้อยลง อย่างการยืดหรืองอเข่าอาจทำได้ไม่เต็มที่
    ข้อเข่าอ่อนแรงหรือรู้สึกไม่มั่นคงขณะยืนทรงตัว
    ได้ยินเสียงดังป๊อบในข้อเข่า ซึ่งอาจพบได้ในผู้ป่วยบางราย

อาการของ ACL Injury แบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ ได้แก่

    ระยะที่ 1 เป็นระยะที่เส้นเอ็นได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย และยังไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของข้อเข่า
    ระยะที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อเส้นเอ็นได้รับบาดเจ็บมากขึ้นและทำให้ข้อเข่าเริ่มหลวม เนื่องจากอาจเป็นผลมาจากเส้นเอ็นบางส่วนฉีกขาด
    ระยะที่ 3 เป็นระยะที่ข้อเข่าไม่มั่นคงเนื่องจากเส้นเอ็นฉีกขาดออกจากกันโดยสมบูรณ์

หากมีอาการผิดปกติเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์ เนื่องจากข้อเข่ามีโครงสร้างภายในที่ซับซ้อน จึงควรได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป


สาเหตุของ ACL Injury

หัวเข่าประกอบด้วยกระดูก กระดูกอ่อน เอ็นกล้ามเนื้อ และเอ็นยึด โดยเอ็นยึดภายในข้อเข่าเป็นตัวยึดระหว่างกระดูกแต่ละชิ้นให้เชื่อมต่อกัน ส่วนเอ็นไขว้หน้า (Anterior Cruciate Ligament) จะอยู่บริเวณกลางหัวเข่า โดยเป็นเส้นเอ็นหนึ่งในสองที่ทำหน้าที่ยึดระหว่างกระดูกหน้าแข้งและกระดูกต้นขา เพื่อไม่ให้กระดูกหน้าแข้งเคลื่อนออกมาด้านหน้าของกระดูกต้นขาและช่วยรักษาความมั่นคงของข้อเข่าเอาไว้

การบาดเจ็บหรือฉีกขาดของเอ็นไขว้หน้าของข้อเข่าเกิดจากการทำกิจกรรมหรือการเล่นกีฬาที่ทำให้ข้อเข่าได้รับแรงกดทับหรือแรงกระแทก โดยอาจเกิดขึ้นจากการหยุดหรือเปลี่ยนทิศทางกะทันหัน การชะลอฝีเท้าขณะวิ่ง การกระโดดลงมายืนผิดท่า การบิดเท้าขณะยืนนิ่ง การได้รับแรงปะทะที่หัวเข่า อย่างการเข้าแย่งลูกฟุตบอล จึงมักพบการเกิด ACL Injury ได้บ่อยในนักกีฬาประเภทต่าง ๆ เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล ยิมนาสติก เล่นสกี เป็นต้น

นอกจากนี้ การสวมรองเท้าที่ไม่พอดีกับเท้า การใช้อุปกรณ์ในการเล่นกีฬาที่ไม่เหมาะสม หรือการเล่นกีฬาบนพื้นหญ้าเทียม อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิด ACL Injury ได้เช่นกัน ทั้งนี้ ผู้หญิงเป็นเพศที่มีความเสี่ยงในการเกิด ACL Injury มากกว่า เนื่องจากสรีระ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และฮอร์โมนที่แตกต่างจากเพศชาย


การวินิจฉัย ACL Injury

แพทย์จะสอบถามอาการ ประวัติสุขภาพของผู้ป่วย และตรวจร่างกายเบื้องต้น โดยแพทย์จะตรวจอาการบวมเจ็บของหัวเข่าโดยเปรียบเทียบกับหัวเข่าอีกข้างที่ไม่มีอาการ และอาจให้ผู้ป่วยลองขยับหัวเข่าไปมาเพื่อประเมินความสามารถในการเคลื่อนไหวข้อเข่า

โดยทั่วไป วิธีการตรวจร่างกายเบื้องต้นเพียงอย่างเดียวอาจเพียงพอต่อการวินิจฉัย ACL Injury แต่ในบางกรณีอาจใช้วิธีอื่น ๆ ในการตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติมเพื่อประเมินความรุนแรงของอาการบาดเจ็บ เช่น

    การเอกซเรย์ อาจใช้การวินิจฉัยอาการที่เกิดจากกระดูกหัก เนื่องจากไม่สามารถแสดงภาพของเนื้อเยื่อหรือเส้นเอ็นได้
    การทำเอ็มอาร์ไอ (MRI) เป็นการใช้คลื่นวิทยุและคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อให้ได้ภาพของเนื้อเยื่อและเส้นเอ็นภายในร่างกายได้ชัดเจนขึ้น โดยนำมาใช้วินิจฉัยอาการบาดเจ็บของเอ็นไขว้หน้าหัวเข่าและดูความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเนื้อเยื่ออื่นภายในข้อเข่า อย่างกระดูกอ่อน อย่างไรก็ตาม การทำเอ็มอาร์ไอมักไม่นำมาใช้ในกรณีเอ็นไขว้หน้าหัวเข่าเกิดการฉีกขาด
    การอัลตราซาวด์ เป็นการใช้คลื่นเสียงจับภาพอวัยวะและโครงสร้างภายใน เพื่อวินิจฉัยอาการบาดเจ็บของเอ็นยึด เอ็นกล้ามเนื้อ และกล้ามเนื้อต่าง ๆ ภายในข้อเข่า
    การส่องกล้อง (Arthroscopy) โดยการกรีดเปิดช่องเล็ก ๆ ที่ผิวหนังเพื่อสอดกล้องเข้าไปภายในข้อเข่า เพื่อวินิจฉัยประเภทของการได้รับบาดเจ็บ ในบางกรณีอาจใช้ร่วมกับการผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย


การรักษา ACL Injury

การรักษา ACL Injury จะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้นและความต้องการของผู้ป่วยแต่ละคน ในกรณีของนักกีฬาอาจต้องใช้วิธีผ่าตัดรักษาอาการเพื่อให้สามารถกลับไปเล่นกีฬาได้ตามปกติ แต่ในบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้มีอาการร้ายแรงอาจไม่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด
หลังได้รับบาดเจ็บ

หลังได้รับบาดเจ็บ ผู้ป่วยอาจใช้การปฐมพยาบาลในดูแลตนเองเบื้องต้น เพื่อช่วยลดความเจ็บปวดบริเวณหัวเข่าตามหลักการ RICE ได้แก่ หยุดพักและหลีกเลี่ยงการลงน้ำหนักบริเวณการใช้ข้อเข่า (Rest) ใช้น้ำแข็งห่อผ้าสะอาดประคบหลังตื่นนอน ครั้งละ 20 นาที ทุก 2 ชั่วโมง (Ice) ใช้ผ้ายืดพันยึดรอบหัวเข่า (Compression) และยกเข่าให้สูงขึ้นขณะนอนด้วยการใช้หมอนหนุน (Evaluation)


การรักษาโดยไม่ผ่าตัด

วิธีนี้มักใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอายุมากหรือไม่ได้ทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมากในชีวิตประจำวัน หากเอ็นไขว้หน้าหัวเข่าไม่ได้ฉีกขาด หรือข้อเข่ายังมั่นคงและไม่ได้เกิดความเสียหาย แพทย์อาจใช้วิธีการรักษาต่อไปนี้

    การรับประทานยาแก้ปวดที่หาซื้อได้ทั่วไป อย่างยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)
    การใช้ไม้ค้ำยัน เพื่อลดแรงกดทับจากการลงน้ำหนักบริเวณหัวเข่าหรือขา
    การทำกายภาพบำบัด เมื่ออาการบวมยุบลง การทำกายภาพบำบัดจะช่วยฟื้นฟูการทำงานของหัวเข่าให้กลับมาเป็นปกติ และช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขาได้


การรักษาด้วยการผ่าตัด

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการร้ายแรง เช่น ข้อเข่าอ่อนแรงขณะเดินหรือเอ็นไขว้หน้าหัวเข่าฉีกขาด หรือเป็นนักกีฬาที่ต้องการกลับไปเล่นกีฬาได้ตามปกติโดยเร็ว แพทย์อาจแนะนำให้ใช้วิธีการผ่าตัดเพื่อรักษา ACL Injury

โดยส่วนมาก การผ่าตัดรักษาเอ็นไขว้หน้าหัวเข่าจะไม่สามารถเย็บส่วนที่ฉีกขาดให้ติดเข้าด้วยกันเหมือนเดิมได้ แต่แพทย์จะนำเส้นเอ็นที่เสียหายออก และใช้เนื้อเยื่อจากเส้นเอ็นส่วนอื่นในร่างกายของผู้ป่วยมาสร้างเอ็นไขว้หน้าหัวเข่าทดแทนด้วยวิธีการผ่าตัดส่องกล้อง (Arthroscope) โดยอาจใช้เส้นเอ็นจากสะบ้าหัวเข่า (Patellar Tendons) หรือเส้นเอ็นจากด้านหลังของต้นขา (Hamstring Tendons)

หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยอาจเข้ารับการทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูข้อเข่าให้กลับมาทำงานได้ตามปกติ และยังเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นใหม่หลังจากการผ่าตัดอีกด้วย ทั้งนี้ วิธีการผ่าตัดนี้อาจใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน ผู้ป่วยจึงสามารถกลับไปทำกิจกรรมต่าง ๆ หรือเล่นกีฬาได้ตามปกติ


ภาวะแทรกซ้อนของ ACL Injury

ผู้ที่เคยมีอาการ ACL Injury อาจมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะข้อเข่าเสื่อม (Osteoarthritis) บางรายอาจเกิดภาวะข้ออักเสบ (Arthritis) หลังจากการผ่าตัดสร้างเส้นเอ็นใหม่ โดยเฉพาะผู้ที่เคยได้รับบาดเจ็บรุนแรง มีอาการที่เกี่ยวข้องกับการได้รับบาดเจ็บในข้อเข่าหรือการใช้แรงข้อเข่าในการทำกิจกรรมต่าง ๆ หลังการผ่าตัด ซึ่งเป็นกลุ่มที่อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างภาวะข้ออักเสบได้มาก


การป้องกัน ACL Injury สามารถทำได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

    ออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงและปรับสมดุลของกล้ามเนื้อขา สะโพก เชิงกราน และท้องส่วนล่าง โดยเรียนรู้วิธีออกกำลังกายที่เหมาะสมจากผู้เชี่ยวชาญและเรียนรู้วิธีการใช้ข้อเข่าที่ถูกต้อง เช่น การกระโดด การวิ่งและหยุด โดยเฉพาะในนักกีฬา เพื่อลดแรงกระแทกและป้องกันการได้รับบาดเจ็บ
    สวมรองเท้าและอุปกรณ์รองรับแรงกระแทกที่เหมาะสมสำหรับการเล่นกีฬาแต่ละชนิด เพื่อป้องกันการได้รับบาดเจ็บ