หลายคนอาจไม่ทราบว่าอาหารบางชนิดสามารถช่วยรักษาความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ เมื่อได้ทราบเช่นนี้แล้ว คุณอาจเกิดความสงสัยว่าแล้วผู้ที่มีภาวะความดันต่ำต้องกินอะไรจึงจะช่วยปรับระดับความดันโลหิตได้ บทความนี้จะมาแนะนำอาหาร 5 อย่างที่ผู้มีความดันต่ำสามารถเลือกกินได้อย่างเหมาะสมและเกิดผลดีต่อสุขภาพ
ความดันต่ำ (Hypotension) เป็นภาวะที่ความดันโลหิตในหลอดเลือดแดงต่ำกว่าปกติ โดยส่วนใหญ่มักไม่รุนแรงและไม่แสดงอาการ จึงสามารถทราบได้จากการวัดความดันแล้วมีค่าความดันต่ำกว่า 90/60 มิลลิเมตรปรอท (mmHg) แต่ในบางกรณี หากความดันต่ำมากจนส่งผลกระทบต่อการลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ก็อาจนำไปสู่อาการบางอย่าง เช่น หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ
ความดันต่ำต้องกินอะไร อาหารแบบไหนที่ช่วยปรับความดันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
ผู้ที่มีภาวะความดันต่ำต้องกินอะไรจึงจะดีต่อสุขภาพ
หากคุณมีภาวะความดันโลหิตต่ำ คุณควรลองพิจารณาเลือกบริโภคสิ่งเหล่านี้ เพราะอาจช่วยปรับระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้
น้ำเปล่า
ภาวะขาดน้ำเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความดันโลหิตต่ำ เนื่องจากเมื่อร่างกายขาดน้ำจะทำให้ปริมาณเลือดลดน้อยลง ส่งผลให้ความดันโลหิตลดต่ำลงไปด้วย คุณจึงควรดื่มน้ำให้เพียงพออยู่เสมอเพื่อรักษาระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยเฉพาะเมื่อร่างกายต้องเสียน้ำมาก เช่น หลังจากการออกกำลังกาย หรือในระหว่างการทำกิจกรรมกลางแดดเป็นเวลานาน
อย่างไรก็ตาม ควรเลือกดื่มน้ำเปล่าที่สะอาด เพราะน้ำเปล่ามีประโยชน์ต่อร่างกายหลายประการ และไม่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เหมือนกับน้ำหวานหรือน้ำอัดลมด้วย นอกจากนี้ คุณควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอออล์เพราะสามารถทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำได้
เกลือ
อาหารที่มีส่วนผสมของเกลือหรือโซเดียมสูง เช่น ปลากะตัก ถั่วอบเกลือ อาหารกระป๋อง อาหารหมักดอง หรือคอตเทจชีส (Cottage Cheese) สามารถเพิ่มระดับความดันโลหิตให้สูงขึ้นได้ ผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำอาจพิจารณาเลือกกินอาหารเหล่านี้ให้มากขึ้น เพื่อช่วยปรับระดับความดันในร่างกายให้สมดุล
แต่การกินอาหารที่มีโซเดียมสูงมากเกินไปไม่เป็นผลดีต่อร่างกายและอาจไม่เหมาะกับผู้สูงอายุ เพราะสามารถทำให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงมากจนเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนการบริโภคอาหารเหล่านี้
เนื้อแดง
เนื้อแดง เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ หรือเนื้อวัว ไม่เพียงแต่เป็นแหล่งของโปรตีนที่สำคัญเท่านั้น แต่ยังเป็นหนึ่งในอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงซึ่งสามารถช่วยเพิ่มระดับความดันโลหิตให้สูงขึ้นได้ เนื้อแดงจึงเป็นตัวเลือกอาหารที่ดีสำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำ โดยเนื้อแดงที่แนะนำให้บริโภคมากที่สุดคือเนื้อวัว เนื่องจากเป็นเนื้อสัตว์ที่มีปริมาณธาตุเหล็กสูงที่สุดชนิดหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อสัตว์ส่วนที่มีไขมันมาก และเน้นบริโภคเนื้อสัตว์ส่วนที่มีไขมันน้อยแทน เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะไขมันในเลือดสูง (Hyperlipidemia)
อาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินบี 12 (Vitamin B12)
หากร่างกายได้รับวิตามินบี 12 ในปริมาณที่น้อยเกินไป อาจทำให้เกิดโรคโลหิตจางและส่งผลให้ความดันโลหิตต่ำได้ ผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำจึงควรกินอาหารที่มีวิตามินบี 12 อย่างเพียงพอ เพื่อป้องกันไม่ให้ความดันโลหิตลดต่ำลงไปมากกว่าเดิม โดยอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินบี 12 นั้นมีอยู่มากมายและสามารถหาได้ง่ายใกล้ตัวคุณ เช่น ไข่ เนื้อสัตว์ ตับวัว ซีเรียล และผลิตภัณฑ์จากนม
อาหารที่อุดมไปด้วยโฟเลต (Folate)
การที่ร่างกายได้รับโฟเลตหรือวิตามินบี 9 (Vitamin B9) ในปริมาณที่ไม่เพียงพอ สามารถทำให้เกิดโรคโลหิตจางและส่งผลให้ความดันโลหิตต่ำเช่นเดียวกัน ผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำจึงควรกินอาหารที่มีโฟเลตสูงอย่างเพียงพอ อาหารที่มีโฟเลตสูง ได้แก่ ผักใบเขียว พืชตระกูลถั่ว จมูกข้าวสาลี ผลไม้รสเปรี้ยว ไข่ และตับ
เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน (Caffeine)
เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา ช็อกโกแลต โกโก้ และเครื่องดื่มชูกำลัง สามารถกระตุ้นอัตราการเต้นของหัวใจและช่วยเพิ่มระดับความดันโลหิตให้สูงขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม คาเฟอีนอาจช่วยเพิ่มความดันโลหิตให้สูงขึ้นได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น และยังต้องการการศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของคาเฟอีนในการช่วยเพิ่มความดันโลหิตเพิ่มเติม จึงควรดื่มด้วยความระมัดระวัง
เคล็ดลับการกินเพื่อสุขภาพที่ดีสำหรับผู้ที่มีภาวะความดันต่ำ
สิ่งที่สำคัญไม่แพ้การทราบว่าผู้ที่มีภาวะความดันต่ำต้องกินอะไร คือการทราบวิธีการกินอย่างเหมาะสม เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำอีกทางหนึ่ง รวมถึงอาจช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาด้วย โดยเคล็ดลับการกินเพื่อสุขภาพที่ดีสำหรับผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำ มีดังนี้
ควรดื่มน้ำประมาณ 300–500 มิลลิลิตร ก่อนมื้ออาหารประมาณ 15 นาที เพราะอาจช่วยลดภาวะความดันโลหิตต่ำได้
ควรเน้นกินอาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ แต่กินบ่อย ๆ แทนการกินอาหารมื้อใหญ่ เพราะการกินอาหารมื้อใหญ่ทำให้ร่างกายต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อย่อยอาหาร และอาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำได้
หลังจากมื้ออาหารควรนั่งพักสักครู่ เพื่อให้ร่างกายสามารถย่อยอาหารได้อย่างเหมาะสม และไม่ควรเดินไปมาเพราะอาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำและเกิดอาการหน้ามืดวิงเวียนศีรษะตามมาได้
ควรลดการบริโภคอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตที่ย่อยได้เร็ว เช่น ข้าวขาว ขนมปังขาว หรือธัญพืชขัดสี และเน้นบริโภคธัญพืชไม่ขัดสี ถั่ว หรือโปรตีนที่ย่อยได้ช้าแทน เพื่อลดการเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำหลังจากมื้ออาหาร
ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนในตอนกลางคืนหรือก่อนนอน เพราะอาจทำให้นอนไม่หลับ
ไม่ควรดื่มดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำและทำให้ความดันโลหิตลดต่ำลง รวมถึงอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น โรคตับด้วย
เมื่อได้ทราบแล้วว่าหากมีความดันต่ำต้องกินอะไรจึงจะช่วยปรับระดับความดันให้เป็นปกติ คุณก็จะสามารถเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายได้อย่างเหมาะสมมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม หากกินอาหารเหล่านี้ในปริมาณที่มากเกินไปก็อาจนำไปสู่การเกิดภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้เช่นกัน จึงควรกินในปริมาณที่พอเหมาะเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายสูงสุด
โรคความดันต่ำต้องกินอะไร อาหารแบบไหนที่ช่วยปรับความดันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/