ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) คาดว่าในปี 2573 จะมีประชากรวัย 60 ปีขึ้นไป จำนวนถึง 17.6 ล้านคน จากประชากรทั้งหมดประมาณ 65 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 26 และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นการวางแผนสร้างบ้านคุณภาพสำหรับบ้านที่มีสมาชิกสูงวัย จึงควรออกแบบการจัดพื้นที่ในบ้านให้เอื้อต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และการใช้รถเข็นในอนาคต เพื่อลดความเสี่ยง และป้องกันอุบัติเหตุ
สร้างบ้านคุณภาพสำหรับผู้สูงอายุต้องระวังอะไรบ้าง?
1. บันได
บันไดบ้านเป็นจุดเสี่ยงจุดอันตรายสำหรับผู้สูงอายุ และเป็นจุดที่ต้องขึ้น-ลง เป็นประจำ ดังนั้นการออกแบบบันไดสำหรับผู้สูงวัยต้องเพิ่มแสงสว่างให้เพียงพอ มีราวบันไดจับที่มั่นคง แข็งแรง ติดกันลื่นที่บันไดแต่ละก้าว ใช้วัสดุปูพื้นบันไดที่ไม่ลื่น อาจทำสีที่จมูกบันไดให้มีความแตกต่างจากผิวบันไดอย่างชัดเจน เพื่อลดอุบัติเหตุ
2. ประตู
การเปิดปิดและผ่านเข้าออกประตูของผู้สูงอายุต้องเอาใจใส่ เพราะเป็นจุดที่เป็นอุปสรรคแก่ผู้สูงอายุและ ผู้ที่นั่งรถเข็น ดังนั้นควรออกแบบบานประตูเป็นแบบบานเลื่อน เนื่องจากใช้แรงในการเปิด-ปิดบานประตูน้อยกว่า และบานประตูควรเพิ่มความกว้างเป็น 90 เซนติเมตร ซึ่งเป็นความกว้างที่รถเข็นเข้า-ออกสะดวก นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการมีธรณีประตูเพื่อป้องกันการสะดุดล้ม และกีดขวางการใช้รถเข็น อุปกรณ์เปิด-ปิด ควรเป็นแบบคันโยกที่ผู้สูงอายุจับง่ายกว่าแบบลูกบิดกลมๆ
3. ห้องน้ำ
ห้องน้ำเป็นจุดเสี่ยงที่ต้องระวังมากที่สุด เพราะเป็นจุดที่ทำให้ผู้สูงอายุเกิดอุบัติเหตุเป็นอันดับต้นๆ การออกแบบสร้างบ้านคุณภาพในส่วนนี้จึงต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและง่ายต่อการใช้งานเป็นหลัก โดยห้องน้ำควรมีความกว้างไม่น้อยกว่า 150-200 เซนติเมตร เพื่อให้สามารถใช้รถเข็นได้อย่างสะดวก เลือกสุขภัณฑ์ที่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ ติดตั้งราวจับและเก้าอี้นั่งสำหรับอาบน้ำ และสิ่งที่ขาดไม่ได้เลย คือ สัญญาณฉุกเฉิน เพื่อให้คนภายนอกสามารถรับรู้ถึงความผิดปกติและเข้ามาช่วยเหลือได้ทันที
4. พื้น
เลือกวัสดุปูพื้นได้ทั้งแบบกระเบื้อง และพื้นไม้ แต่สิ่งสำคัญคือ พื้นผิวต้องมีความฝืด หนืด ไม่ลื่น เพื่อลดความเสี่ยงในการลื่นล้ม ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้กับกระดูกและร่างกายของผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก ควรหลีกเลี่ยงพื้นพรมเนื่องจากมีโอกาสเดินสะดุดได้ หากไม่สามารถเลี่ยงการปูพรมได้ ควรใส่ใจในส่วนของการปูพื้นพรมให้เรียบแน่น ติดขอบและมุมของพรมให้เรียบร้อย ไม่นูนหรือเปิดขึ้นมา เพื่อลดความเสี่ยงของการเดินสะดุดได้
5. ห้องนอน
ห้องนอนที่เหมาะสมควรอยู่ชั้นล่างและมีห้องน้ำในห้อง หรืออยู่ใกล้ห้องน้ำ เพราะผู้สูงอายุมักจะเข้าห้องน้ำตอนกลางคืนหลายรอบ ควรติดตั้งระบบไฟส่องสว่างนำทางอัตโนมัติ เพื่อลดโอกาสการเดินสะดุดหกล้มระหว่างทางไปเข้าห้องน้ำและกลับมาที่เตียงได้ พื้นที่ภายในห้องควรมีขนาดไม่น้อยกว่า 10-12 ตร.ม. แบบไม่รวมส่วนของห้องน้ำ เพื่อให้ผู้สูงอายุสะดวกในการใช้งาน
พื้นห้องนอนควรปูด้วยผลิตภัณฑ์กรุพื้นผิวที่มีคุณสมบัติช่วยดูดซับแรงกระแทก ช่วยลดความรุนแรงหากเกิดการล้ม นอกจากนี้การจัดวางเตียงนอนและเฟอร์นิเจอร์ก็มีความสำคัญมาก เตียงนอนควรมีความยาวไม่น้อยกว่า 180 เซนติเมตร ระดับความสูง 40 เซนติเมตร มีพื้นที่ว่างโดยรอบเตียงสามด้านอย่างต่ำ 90 เซนติเมตร เพื่อสะดวกในการลุก การนั่ง และนอน
6. ระบบไฟแสงสว่าง
ผู้สูงอายุมักมีปัญหาด้านสายตา ดังนั้นบริเวณที่แสงสว่างไม่เพียงพอ ก็ถือเป็นจุดเสี่ยง ดังนั้นควรออกแบบระบบไฟภายในบ้านให้มีแสงสว่างที่สม่ำเสมอ เช่น ระหว่างห้อง ระหว่างภายในและภายนอก โดยเฉพาะตามมุมต่างๆ ที่ต้องผ่านทุกวัน สวิตช์ไฟต้องใหญ่ชัดเจน มีฟังก์ชันการใช้งานง่ายไม่ซับซ้อน มีสีขาวและเรืองแสงได้ในที่มืด ตำแหน่งอยู่สูงจากพื้นในระยะที่ผู้นั่งรถเข็นสามารถใช้งานได้สะดวก
7. พื้นที่รอบบ้าน
พื้นที่รอบบ้านเป็นส่วนที่ผู้สูงอายุมักจะออกมาใช้งานเพื่อความผ่อนคลาย ทั้งเดินออกกำลังกาย ทำสวนดูแลต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ ดังนั้นควรออกแบบพื้นภายนอกบ้านให้มีระดับเท่ากัน หากมีทางต่างระดับควรทำทางลาด ซึ่งสะดวกต่อการใช้งานสำหรับผู้สูงอายุมากกว่า
บ้านสวยโคราช: การสร้างบ้านผู้สูงอายุควรระมัดระวังและวางแผนตั้งแต่การออกแบบ อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://homes-realestate.com/