ผู้เขียน หัวข้อ: โรคปอดอักเสบ อาการเป็นอย่างไร ป้องกันได้อย่างไรบ้าง?  (อ่าน 55 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 762
  • สินค้าโปรโมชั่น โพสขายฟรี
    • ดูรายละเอียด
โรคปอดอักเสบหรือโรคปวดบวมเป็นโรคทางระบบทางเดินหายใจ ที่มีการติดเชื้อในปอด มักมีสาเหตุจากการติดเชื้อ ทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อปอด ซึ่งถือเป็นโรคที่มีอาการค่อนข้างรุนแรง และมักเกิดแบบเฉียบพลัน หากเกิดกับผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง อาจนำไปสู่การติดเชื้อในกระแสเลือด และเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้ 

โดยผู้ป่วยมักมีอาการไข้ ไอ หายใจหอบ หนาวสั่น อ่อนเพลีย หายใจแล้วรู้สึกเจ็บหน้าอก ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม


โรคปอดอักเสบคืออะไร?

โรคปอดอักเสบ (pneumonia) หรือที่เรียกกันว่า “โรคปอดบวม” เป็นโรคที่สามารถพบได้บ่อยติดอันดับ 1 ใน 5 อันดับแรกของโรคติดต่อทางเดินหายใจ เป็นโรคที่มีการอักเสบของเนื้อปอด ทำให้ปอดทำงานที่ได้น้อยลง มักพบว่าเป็นอาการที่ต่อเนื่องจากโรคไข้หวัดใหญ่หรือมีการติดเชื้อจากการไอจาม พบได้ในทุกเพศและทุกวัย ความรุนแรงของโรคมีโอกาสเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคหอบหืด โรคหัวใจ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือ ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัดหรือได้รับยากดภูมิเป็นเวลานาน รวมไปถึงกลุ่มเด็กเล็กและผู้สูงอายุ โรคปอดอักเสบจัดเป็นโรคร้ายแรงชนิดเฉียบพลัน ซึ่งทำให้เกิดการเจ็บป่วยรุนแรง และภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ และอาจนำมาซึ่งการเสียชีวิตหรือพิการได้


อาการโรคปอดอักเสบ

ผู้ป่วยมักมีอาการไข้ ไอ เจ็บหน้าอก และหอบเหนื่อย บางรายอาจมีอาการไม่ชัดเจน ผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีอาการแตกต่างกันไป โดยสามารถสังเกตอาการได้ดังนี้

    มีไข้สูง ตัวร้อนตลอดเวลา หนาวสั่น  โดยอาการไข้มักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน
    หายใจเร็ว หอบเหนื่อย
    ไอแห้ง มักไม่มีเสมหะ ในระยะแรก ต่อมาอาจมีเสมหะขาวขุ่น หรือเป็นสีเหลืองเขียว บางรายอาจมีเลือดปน
    เจ็บหน้าอก อาจเจ็บแปล๊บเวลาหายใจเข้า หรือเวลาไอแรง ๆ
    บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เจ็บคอ ปวดท้อง คลื่นไส้ เบื่ออาหาร อาเจียน อ่อนเพลียร่วมด้วย
    อาจมีอาการซึม สับสน
    ในเด็กเล็กอาจมีอาการท้องอืด ไม่ดูดนมหรือน้ำ อาเจียน


โรคปอดอักเสบเกิดจากอะไร?

โรคปอดอักเสบเกิดจาก 2 สาเหตุหลัก คือ

1. ปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งพบได้เป็นส่วนใหญ่ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ เช่น

    ชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส (Streptococcus pneumoniae หรือ pneumococcus) ซึ่งเป็นเชื้อที่ทำให้เกิดปอดอักเสบเฉียบพลันและรุนแรง และเป็นเชื้อสาเหตุของโรคปอดอักเสบที่พบได้บ่อยที่สุด
    เชื้อแบคทีเรียไมโคพลาสมา นิวโมเนียอี (Mycoplasma pneumoniae หรือ M pneumoniae)
    เชื้อไวรัสจำพวก ไวรัสไข้หวัดใหญ่ (influenza virus)
    เชื้อรา เช่น นิวโมซิสติส จิโรเวซิไอ (Pneumocystis jirovecii) หรือทางการแพทย์เรียกว่า Pneumocystis pneumonia (PCP) แอสเปอร์จิลลัส (Aspergillus) คริปโตค็อกโคซิส (cryptococcosis) ซึ่งจะพบในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ

2. ปอดอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อซึ่งพบได้น้อยกว่ามักมีสาเหตุจากสารเคมี การสูบบุหรี่หรือสัมผัสควันบุหรี่ ควันไฟ ทำให้เกิดการระคายเคืองและทำลายเยื่อบุทางเดินหายใจ หรือมีการสำลักอาหารเข้าปอดทำให้เกิดการติดเชื้อ และการรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์ ยารักษาโรคมะเร็งหรือยาเคมีบำบัด


วิธีการรักษาโรคปอดอักเสบ

เนื่องจากโรคปอดอักเสบเป็นโรคที่ค่อนข้างรุนแรง และหากเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำเป็นโรคปอดอักเสบมีแนวโน้มที่อาการจะรุนแรง และมีโอกาสเสียชีวิตได้ ดังนั้นหากสงสัยหรือมีอาการที่คล้ายกับอาการของปอดอักเสบ ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง และยังเป็นการป้องกันอาการและภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง โดยแนวทางการรักษาแพทย์อาจพิจารณาการรักษาดังต่อไปนี้

    การใช้ยาปฏิชีวนะ (antibiotic drug) ผู้ป่วยควรได้รับยาการให้ยาปฏิชีวนะเร็วที่สุด หลังได้รับการวินิจฉัยว่าสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียภายใน 4 – 6 ชั่วโมง
    การรักษาประคับประคองตามอาการ ดูแลให้ร่างกายได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ ดูแลให้ได้รับสารน้ำ อาหารที่มีเกลือแร่เพียงพอและเหมาะสม ในผู้ป่วยที่ปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสอาจพิจารณาให้ยาลดไข้ ยาขยายหลอดลม ยาละลายเสมหะ ตามคำแนะนำของแพทย์
    รักษาภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่มักจะเกิดขึ้นในกรณีของกลุ่มเสี่ยงที่มีอาการรุนแรงมาก เช่น ภาวะหายใจล้มเหลว

โรคปอดอักเสบกับวัณโรค ต่างกันอย่างไร?

โรคปอดอักเสบและวัณโรคจัดเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ วัณโรคสามารถแพร่กระจายผ่านการไอ จามเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อ สาเหตุของวัณโรคเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ ไมโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium tuberculosis)

ส่วนโรคปอดอักเสบมีสาเหตุการเกิดหลายปัจจัยทั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อรา หรือปัจจัยภายนอกอื่น ๆ ดังกล่าวข้างต้น

โดยอาการของทั้งสองโรคจะมีลักษณะคือ
อาการปอดอักเสบ   ไอมีเสมหะ เจ็บหน้าอกเวลาไอหรือหายใจ มีไข้ เหงื่อออก หนาวสั่น หายใจเร็ว หอบเหนื่อย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ เบื่ออาหาร อาเจียน
อาการวัณโรค   ไอมีเสมหะมีเลือดปน ไอเรื้อรัง มีไข้ต่ำ ๆ เรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ ผิวหนังซีดเหลือง มีเหงื่อออกในตอนกลางคืน

จะเห็นได้ว่าอาการหลาย ๆ อาการมีความคล้ายคลึงกัน ดังนั้นผู้ที่มีอาการดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์ เพื่อการวินิจฉัย และรักษาที่ถูกต้องต่อไป

การป้องกันโรคปอดอักเสบ

โรคปอดอักเสบเป็นโรคที่ป้องกันได้ โดยมีแนวทางป้องกันคือ

    ฉีดวัคซีนป้องกันปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสซึ่งเป็นสาเหตุของโรคปอดอักเสบรุนแรงและเฉียบพลัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือผู้ที่ภูมิคุ้มกันต่ำ
    ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือผู้ที่ภูมิคุ้มกันต่ำ
    รักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ
    นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ในปริมาณที่เหมาะสม
    รักษาสุขอนามัย ป้องกันการสัมผัสหรือการได้รับเชื้อ ล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารและหลังการหยิบจับสิ่งของ


วัคซีนปอดอักเสบสำคัญอย่างไร?

การฉีดวัคซีนป้องกันปอดอักเสบเป็นหนึ่งในวิธีที่ป้องกันโรคปอดอักเสบ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและลดโอกาสการเกิดโรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อและภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือผู้ที่ภูมิคุ้มกันต่ำ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มักมีอาการรุนแรงหากมีการติดเชื้อปอดอักเสบโดยวัคซีนปอดอักเสบมีด้วยกัน 2 ชนิด คือ วัคซีนปอดอักเสบ 13 สายพันธุ์ (PCV13) และ วัคซีนปอดอักเสบ 23 สายพันธุ์ (PPSV23)


ความสำคัญของวัคซีนปอดอักเสบ   

วัคซีนปอดอักเสบ 13 สายพันธุ์ (PCV13)

วัคซีนปอดอักเสบ 13 สายพันธุ์ เป็นวัคซีนที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ตลอดชีวิต ป้องกันการเกิดโรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดไม่รุนแรงในกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปได้สูง (ประมาณ 75%) และยังช่วยลดความรุนแรงของปอดอักเสบได้มากกว่า 70% โดยมีคำแนะนำคือ

    ในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 2 – 23 เดือน ควรฉีดโดยให้แต่ละเข็มควรฉีดห่างกัน 2 เดือน
    ในผู้ที่อายุ 2- 64 ปี ที่ภูมิคุ้มกันปกติ ไม่มีโรคประจำตัว และไม่เคยได้รับวัคซีนปอดอักเสบมาก่อนควรฉีดด้วย PCV13 แล้วตามด้วย PPSV23 โดยห่างกันอย่างน้อย 1 ปี
    ในผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป และกลุ่มอายุตั้งแต่ 2-64 ปี ที่มีโรคประจำตัว โรคเรื้อรัง ภูมิคุ้มกันต่ำ และไม่เคยได้รับวัคซีนปอดอักเสบมาก่อนควรฉีดด้วย PCV13 แล้วตามด้วย PPSV23 โดยห่างกันอย่างน้อย 8 สัปดาห์


วัคซีนปอดอักเสบ 23 สายพันธุ์ (PPSV23)

วัคซีนปอดอักเสบ 23 สายพันธุ์ แนะนำให้ฉีดในเด็กที่อายุมากกว่า 2 ปี และในผู้ใหญ่ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง รวมไปถึงผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป สามารถป้องกันสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบรุนแรงได้ถึงเกือบ 90%

โดยการฉีดวัคซีนทั้ง 2 ชนิด ควรฉีดห่างกันอย่างน้อย 1 ปี ยกเว้นผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ฉีดเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 8 สัปดาห์ จะสามารถป้องกันเชื้อ pneumococcusได้นานอย่างน้อย 5 ปี

ทั้งนี้การฉีดวัคซีนป้องกันปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัสทั้ง 2 ชนิด ควรฉีดตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อประสิทธิภาพที่ดีที่สุดของวัคซีน
ผลข้างเคียงจากวัคซีนปอดอักเสบ

อาจมีรอยแดงหรือบวมตรงบริเวณที่ฉีด มีไข้ต่ำ ๆ ง่วงนอน ซึม ไม่อยากอาหาร หงุดหงิดหรือเหนื่อย  นอนไม่หลับ ปวดศรีษะ ปวดกล้ามเนื้อ ส่วนใหญ่ผลข้างเคียงมักไม่ค่อยรุนแรง อาการเหล่านี้แตกต่างกันออกไปแล้วแต่บุคคล และมักหายได้เองในระยะเวลา 2-3 วัน
วัคซีนปอดอักเสบในผู้สูงอายุจำเป็นหรือไม่?

โรคปอดอักเสบเป็นโรคที่พบได้มากในกลุ่มผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มอายุที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส ได้ง่ายกว่าคนอายุน้อย และมีโอกาสที่อาการจะรุนแรง และอาจนำไปสู่การติดเชื้อในกระแสเลือด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้  ดังนั้นการรับวัคซีนปอดอักเสบในผู้สูงอายุจึงมีประโยชน์ในการลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคปอดอักเสบ และหากมีการติดเชื้อก็จะช่วยลดความรุนแรงของโรคได้
สรุป

โรคปอดอักเสบจัดเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่ร้ายแรงแบบเฉียบพลัน ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคและมีโอกาสที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนจากปอดอักเสบสูงมาก โดยสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย 

ดังนั้นการดูแลป้องกันตัวเองจึงเป็นสิ่งจำเป็น การหมั่นดูแลสุขภาพของตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ และควรเข้ารับวัคซีนป้องกันปอดอักเสบ เพราะจะสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อและลดโอกาสการป่วยด้วยโรคปอดอักเสบอีกทั้งยังช่วยลดความรุนแรงจากภาวะแทรกซ้อนของโรคได้อีกด้วย


โรคปอดอักเสบ อาการเป็นอย่างไร ป้องกันได้อย่างไรบ้าง? อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/disease-conditions/151