ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจอาการด้วยตนเอง: สิว (Acne/Acne vulgaris)  (อ่าน 56 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 721
  • สินค้าโปรโมชั่น โพสขายฟรี
    • ดูรายละเอียด
ตรวจอาการด้วยตนเอง: สิว (Acne/Acne vulgaris)
« เมื่อ: วันที่ 2 สิงหาคม 2024, 14:40:24 น. »
ตรวจอาการด้วยตนเอง: สิว (Acne/Acne vulgaris)

แพทย์จะให้การดูแลรักษา โดยแนะนำข้อปฏิบัติตัวสำหรับผู้ที่เป็นสิว และให้ยารักษา ดังนี้

1. ถ้าเป็นเพียงสิวเสี้ยน (สิวหัวขาว หรือหัวดำ) ยังไม่มีการอักเสบเป็นตุ่มแดงหรือตุ่มหนอง ควรให้การรักษาดังนี้

(1) ใช้ยาทาในกลุ่มกรดเรติโนอิก (ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของวิตามินเอ) มีฤทธิ์ป้องกันการอุดตันของรูขุมขน เลือกใช้ชนิดใดชนิดหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    เทรติโนอิน (tretinoin) ชนิดเจลหรือครีม มีฤทธิ์ละลายขุย ทำให้หัวสิวหลุดลอก และป้องกันมิให้เกิดสิวใหม่ ใช้ทาทั่วใบหน้า ยกเว้นขอบตาและซอกจมูก วันละครั้ง ก่อนนอน จะเริ่มเห็นผลเมื่อใช้นาน 3-4 เดือน ยานี้อาจทำให้เกิดการระคายเคือง หน้าแดง แสบ แห้ง ลอก และเกิดการแพ้แดดได้ (เมื่อใช้ยานี้ ควรหลีกเลี่ยงแสงแดด หรือทายากันแดดในเวลากลางวัน) ในบางรายอาจทำให้เป็นสิวมากขึ้นในช่วง 3-4 สัปดาห์แรกของการใช้ยา
    ไอโซเทรติโนอิน (isotretinoin) ชนิดเจลหรือครีม มีฤทธิ์ทำให้การสร้างเคอราตินกลับสู่สภาพปกติ และลดการอักเสบ ใช้ทาวันละครั้ง ก่อนนอน
    อะดาฟาลีน (adaphalene) ชนิดเจลหรือครีม เป็นกรดเรติโนอิกสังเคราะห์ มีข้อดี คือ นอกจากใช้รักษาสิวเสี้ยนแล้ว ยังใช้กับสิวที่อักเสบได้ด้วย
    ทาซาโรทีน (tazarotene) ชนิดเจลหรือครีม มีข้อดี คือ นอกจากใช้รักษาสิวเสี้ยนแล้ว ยังใช้กับสิวที่อักเสบได้เช่นเดียวกับอะดาฟาลีน

(2) ทำการกดสิว โดยใช้เครื่องมือกดสิว ในรายที่รูเปิดเล็กมาก อาจจำเป็นต้องใช้เข็มเบอร์ 25 หรือ 26 ขยายรูเปิด ช่วยให้การกดสิวเป็นไปได้ง่ายขึ้น การกดสิวควรทำให้ถูกหลักวิธีและสะอาด วิธีนี้ช่วยลดรอยโรคที่เป็นอยู่ให้หายไปได้รวดเร็ว ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดตุ่มอักเสบเห่อขึ้นหลังการรักษา อย่างไรก็ตาม ผลที่ได้มักเป็นเพียงชั่วคราว มักจะเกิดหัวสิวขึ้นใหม่ได้อีก จึงต้องใช้ร่วมกับการทายาดังกล่าวข้างต้น


2. ถ้าเป็นสิวหัวแดงหรือตุ่มหนอง ให้การรักษาดังนี้

(1) ใช้ยาทารักษาสิวชนิดใดชนิดหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (benzoyl peroxide/BP) ชนิดเจลหรือครีม ยานี้ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อพีแอกเนส์ ลดการอักเสบ และลดปริมาณไขมันที่ผิวหนัง แต่อาจทำให้หน้าแดง แสบ แห้งเป็นขุย ทาทิ้งไว้ 5-10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด วันละ 2 ครั้ง ตอนเช้าและก่อนนอน

ถ้าใช้เพียงอย่างเดียวไม่ได้ผล ควรใช้ร่วมกับยาทาดังกล่าวในข้อ 1 โดยใช้เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ทาตอนเช้า และใช้กรดเรติโนอิกชนิดใดชนิดหนึ่งทาตอนก่อนนอน เริ่มต้นควรให้สลับวันก่อน เมื่อเริ่มคุ้นกับยาจึงปรับมาใช้ในวันเดียวกันต่อไป

    ไอโซเทรติโนอิน ใช้ทาเดี่ยว ๆ หรือร่วมกับเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ หรือร่วมกับยาปฏิชีวนะ
    ใช้ยาปฏิชีวนะชนิดทา เช่น คลินดาไมซิน (clindamycin) หรืออีริโทรไมซินชนิดน้ำ หรือชนิดเจล ทาวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น นาน 8-12 สัปดาห์ ยาปฏิชีวนะชนิดทาดังกล่าวไม่ควรใช้เดี่ยว ๆ เพราะเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อดื้อยา ควรใช้ร่วมกับเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ หรือกรดเรติโนอิก

(2) ถ้าไม่ได้ผล หรือมีการอักเสบมาก ให้ใช้ยาทาเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ หรือกรดเรติโนอิก ร่วมกับยาปฏิชีวนะชนิดกิน ได้แก่ เตตราไซคลีน

ถ้าไม่ได้ผลให้กินดอกซีไซคลีน

ถ้าแพ้เตตราไซคลีน หรือดอกซีไซคลีน หรือมีข้อห้ามใช้ยา 2 ชนิดนี้ (หญิงตั้งครรภ์ และเด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี) หรือใช้ไม่ได้ผลตั้งแต่เดือนแรกให้เปลี่ยนไปใช้อีริโทรไมซิน หรือโคไตรม็อกซาโซล นาน 4-6 สัปดาห์ ยาปฏิชีวนะจะช่วยฆ่าเชื้อพีแอกเนส์ และลดปริมาณของกรดไขมันอิสระที่เป็นต้นเหตุของการอักเสบของสิว

3. ถ้ารักษาด้วยวิธีดังกล่าวไม่ได้ผล หรือมีการอักเสบรุนแรง (เช่น มีสิวหัวช้างขึ้นหลายแห่ง) หรือมีแผลเป็นหรือแผลปูด (คีลอยด์) หรือผิวหน้าขรุขระมาก แพทย์อาจใช้วิธีปรับยารักษาใหม่ ในผู้หญิงอาจให้กินยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีตัวยาไซโพรเทโรนอะเซเทต (cyproterone acetate) เช่น ไดแอน-35 (Diane-35) นาน 6-12 เดือน (เริ่มเห็นผลหลังใช้ยา 3-4 เดือน) ยานี้ออกฤทธิ์เป็นตัวต้านฮอร์โมนเพศชาย (anti-androgen) ช่วยลดขนาดของต่อมไขมันและปริมาณของไขมัน ยานี้เหมาะสำหรับผู้หญิงที่หน้ามันมาก ๆ หรือมีประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ

ในรายที่เป็นสิวเสี้ยนขนาดใหญ่ที่ไม่ตอบสนองด้วยยาทา แพทย์อาจรักษาด้วยการจี้ด้วยไฟฟ้า (gentle light cautery)

ในรายที่เป็นสิวหัวช้างหรือเป็นหนอง แพทย์อาจทำการเจาะระบายหนองออก ซึ่งจะช่วยให้รอยโรคยุบเร็วขึ้น

ในรายที่เป็นรุนแรง ขึ้นเป็นถุง อาจรักษาโดยการฉีดสเตียรอยด์ ได้แก่ ไตรแอมซิโนโลนอะเซโทไนด์เข้าที่หัวสิว หรือให้กินไอโซเทรติโนอิน (กรดเรติโนอิก) ชนิดเม็ด ยากินชนิดนี้มีฤทธิ์ในการทำให้ต่อมไขมันมีขนาดเล็กลง ลดปริมาณไขมันในต่อมไขมัน ลดจำนวนเชื้อแบคทีเรีย และลดการอักเสบ ใช้ได้ผลดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ดื้อต่อการรักษาด้วยยาอื่น ๆ แต่ยานี้มีผลข้างเคียง เช่น ริมฝีปากอักเสบ ตาอักเสบ ตาแห้ง สู้แสงไม่ได้ ปากแห้ง จมูกแห้ง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ภาวะไขมันในเลือดสูง เอนไซม์ตับ (AST, ALT) สูง ไม่ควรใช้ร่วมกับเตตราไซคลีน อาจทำให้เกิดภาวะความดันของน้ำในสมองสูงได้ และข้อสำคัญหญิงตั้งครรภ์ที่กินยานี้อาจทำให้ทารกพิการได้ (ควรระวังการใช้ในหญิงวัยเจริญพันธุ์ ก่อนใช้ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ และระหว่างที่ใช้ก็ต้องหาวิธีคุมกำเนิด และควรหยุดกินยาก่อนตั้งครรภ์อย่างน้อย 2 เดือน) ดังนั้นยาชนิดนี้จึงควรสั่งใช้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

ในรายที่เป็นถุง อาจใช้ไนโตรเจนเหลว (liquid nitrogen) แตะหัวสิวที่เป็นถุง เพื่อช่วยลดการอักเสบ และใช้ความเย็นจากสารชนิดน้ำ ทำลายผนังของถุง

บางกรณีแพทย์อาจให้การรักษาด้วยแสง (phototherapy) หรือแสงเลเซอร์ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาทาและยากินรักษาสิว

ในรายที่เป็นแผลเป็น ผิวหนังขรุขระมาก อาจต้องแก้ไขด้วยการใช้เครื่องมือขัดผิวหน้า (dermabrasion) ใช้สารเคมีกัดส่วนที่เป็นริ้วรอยแผลเป็นออกไป (chemosurgery) หรือการฉีดสารแก้ไขหลุมรอยแผลเป็น (filler injection) ซึ่งต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น