ผู้เขียน หัวข้อ: อาการของโรคตาเข (Strabismus)  (อ่าน 38 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 725
  • สินค้าโปรโมชั่น โพสขายฟรี
    • ดูรายละเอียด
อาการของโรคตาเข (Strabismus)
« เมื่อ: วันที่ 22 กันยายน 2024, 12:39:46 น. »
อาการของโรคตาเข (Strabismus)

ตาเข (ตาเหล่ ตาเอก ก็เรียก) คือ อาการที่ตา 2 ข้างไม่อยู่แนวตรง ตาดำข้างใดข้างหนึ่งมีการเข (เฉียง) เข้าด้านใน (ทางหัวตา) เขออกด้านนอก (ทางหางตา) เฉียงขึ้น หรือเฉียงลง เนื่องจากมีภาวะผิดปกติของกล้ามเนื้อหรือระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวลูกตา ทำให้การเคลื่อนไหวลูกตาทั้ง 2 ข้างขาดการประสานงานเช่นคนปกติ (คนปกติจะเคลื่อนไหวลูกตาในลักษณะที่ประสานสอดคล้องกัน เพื่อให้มองเห็นภาพเป็น 3 มิติ โดยมีสมองเป็นตัวสั่งการมาที่กล้ามเนื้อกลอกลูกตาทั้ง 2 ข้าง)

โรคนี้พบได้บ่อยในทารกและเด็กเล็ก แต่ก็อาจพบในเด็กโตและผู้ใหญ่ได้


สาเหตุ

1. ในทารกแรกเกิด สายตายังเจริญไม่เต็มที่ อาจมีอาการตาเขได้บ้าง แต่ถ้าอายุเลย 6 เดือนไปแล้วยังมีอาการตาเขอยู่อีกก็ถือว่าผิดปกติ เรียกว่าตาเขแต่กำเนิด (congenital strabismus) ซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ และพบว่าสามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์

นอกจากนี้ในอาการตาเขในเด็กยังอาจมีสาเหตุจากสายตาผิดปกติ (เช่น สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง) หรือเกิดจากโรคต่าง ๆ เช่น สมองพิการ (cerebral palsy) กลุ่มอาการดาวน์ (Down’s syndrome) ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ (hydrocephalus) มะเร็งลูกตาในเด็ก เป็นต้น

2. ถ้าอาการตาเขเกิดขึ้นในภายหลังเมื่อพ้นวัยเด็กเล็ก มักจะเกิดจากกล้ามเนื้อกลอกลูกตาเป็นอัมพาตจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น อุบัติเหตุ ศีรษะได้รับบาดเจ็บ เนื้องอกสมอง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) คอพอกเป็นพิษ (โรคเกรฟส์ที่มีอาการตาโปน) ไมแอสทีเนียเกรวิส ทริคิโนซิส โบทูลิซึม เป็นต้น

อาการ

ถ้าเป็นมาตั้งแต่กำเนิด เด็กมักจะไม่มีอาการอะไรนอกจากตาเข แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่รีบแก้ไข ตาข้างที่เขจะมีสายตาพิการได้ ทั้งนี้เพราะเด็กจะไม่ใช้ตาข้างนั้นในการมอง (เพื่อหลีกเลี่ยงการเห็นภาพซ้อน โดยใช้ตาข้างที่ดีเพียงข้างเดียว) เมื่อไม่ใช้ตาข้างนั้นนาน ๆ เข้า สายตาก็จะเสื่อมลงไปเรื่อย ๆ จนตาบอดในที่สุด เรียกภาวะนี้ว่า ตาขี้เกียจ (lazy eye/amblyopia)

ในรายที่เป็นตาเขตอนโต มักจะมีอาการเห็นภาพ 2 ภาพ (เห็นภาพซ้อน) หรืออาการตาล้าร่วมด้วย และอาจมีอาการของโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น ปวดศีรษะ มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน เป็นต้น


ภาวะแทรกซ้อน

ในเด็กเล็กอาจตาข้างที่ผิดปกติเกิดภาวะตาขี้เกียจ (lazy eye/amblyopia) ทำให้ตาบอดได้

เด็กที่มีอาการตาเขอาจรู้สึกอับอาย เป็นปมด้อยในใจได้

ในผู้ใหญ่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุที่ทำให้ตาเข

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ รวมทั้งการใช้เครื่องตรวจวัดสายตาและการตรวจสุขภาพตาซึ่งมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน

ในผู้ใหญ่อาจต้องทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อค้นหาสาเหตุ เช่น ตรวจเลือด เอกซเรย์ ถ่ายภาพด้วยแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นต้น


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

1. ถ้าพบอาการตาเขเป็นครั้งคราวในทารกอายุต่ำกว่า 6 เดือน จะเฝ้าติดตามดูอาการไปเรื่อย ๆ ถ้าไม่มีสาเหตุที่ผิดปกติ ก็มักจะหายได้เองเมื่ออายุได้ 6 เดือน ถ้าอายุพ้น 6 เดือนแล้วยังไม่หาย แพทย์จะทำการตรวจหาสาเหตุ

2. ถ้าทารกมีอาการตาเขตลอดเวลา หรือพบในเด็กอายุมากกว่า 6 เดือน แพทย์จะให้ผู้ป่วยฝึกการใช้ตาข้างที่เข โดยการปิดตาข้างที่ดีด้วยการใส่ที่ครอบตาวันละหลายชั่วโมง เพื่อช่วยกระตุ้นให้ตาอีกข้างที่เกิดตาขี้เกียจได้ทำหน้าที่บ้าง ทำติดต่อนานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน

นอกจากนี้แพทย์จะแนะนำการบริหารตา ซึ่งเป็นการฝึกกล้ามเนื้อที่ช่วยควบคุมการเคลื่อนไหวของลูกตา เพื่อช่วยให้ตาทั้ง 2 ข้างทำงานประสานงานกันได้ดี

ถ้ามีภาวะสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง ก็จะตัดแว่นตาใส่ การรักษาโดยวิธีดังกล่าวอาจช่วยให้เด็กบางคนหายตาเขได้ภายในไม่กี่เดือน

ถ้าตาเขมาก หรือรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล อาจต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัด

การรักษาอาการตาเขและตาขี้เกียจดังกล่าว ควรกระทำก่อนเด็กอายุได้ 3-5 ปี จะทำให้การมองเห็นกลับคืนสู่ปกติได้สูง ถ้าทำในช่วงอายุ 5-7 ปี อาการตาขี้เกียจต้องใช้เวลารักษานานขึ้น และถ้าทำเมื่ออายุมากกว่า 7 ปี การรักษาตาขี้เกียจมักไม่ค่อยได้ผล เพราะหลังวัยนี้ไปแล้ว ตาข้างที่เขอาจมีสายตาพิการอย่างถาวรจนยากที่จะแก้ไขได้

3. ถ้าพบอาการตาเขในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ที่สงสัยว่าอาจมีสาเหตุจากโรคอื่น ๆ แพทย์จะทำการตรวจหาสาเหตุ และให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ ส่วนใหญ่ภายหลังการรักษาโรคที่เป็นสาเหตุให้หายแล้ว อาการตาเขมักจะหายได้ แต่ถ้าไม่หายอาจต้องใส่แว่น หรือทำการแก้ไขด้วยการฉีดสารโบทูลิน (โบท็อกซ์) หรือการผ่าตัด


การดูแลตนเอง

หากสงสัยมีอาการตาเข ตาเหล่ ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นตาเข ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ 
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด

ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    สายตามีความผิดปกติมากขึ้น หรือใส่แว่นสายตาแล้วยังมองเห็นไม่ชัด
    มีอาการตาล้า หรือปวดศีรษะบ่อย
    สงสัยมีภาวะแทรกซ้อนหรือความผิดปกติอื่น ๆ เช่น ปวดศีรษะมาก ปวดตามาก ตาพร่ามัว เห็นภาพซ้อน เห็นแสงวาบคล้ายฟ้าแลบหรือแสงแฟลช หรือเห็นจุดดำคล้ายเงาหยากไย่หรือแมลงลอยไปมา เป็นต้น

การป้องกัน

อาการตาเขโดยกำเนิดซึ่งไม่ทราบสาเหตุยังไม่มีวิธีป้องกัน

ส่วนอาการตาเขที่เกิดจากสายตาผิดปกติ หรือสาเหตุอื่น ๆ อาจป้องกันหรือรักษาอาการตาเขได้ด้วยการป้องกันหรือแก้ไขสาเหตุที่ทำให้ตาเข เช่น ใส่แว่นสายตา การป้องกันการบาดเจ็บที่ตาและสมอง การควบคุมโรคที่เป็นอยู่ (เช่น เบาหวาน คอพอกเป็นพิษ เป็นต้น)

ข้อแนะนำ

1. ทารกทุกคนควรได้รับการตรวจกรองอาการตาเขเป็นระยะ ตั้งแต่อายุได้ 2-3 เดือน

2. อาการตาเขที่พบในทารกและเด็กเล็ก ควรนึกไว้เสมอว่า อาจมีสาเหตุผิดปกติซ่อนเร้นอยู่ และควรได้รับการรักษาก่อนอายุ 3-5 ปี อย่าเข้าใจผิดว่าโตขึ้นจะหายได้เอง มิเช่นนั้น เด็กอาจตาเขและสายตาพิการอย่างถาวรได้