โดยปกติเมื่ออายุมากขึ้นความดันโลหิตจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยพบว่าผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป จากการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ในหลายประเทศแสดงให้เห็นชัดเจนว่า การรับประทานเค็มมากๆ จะส่งผลให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น หรือมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูงได้ นอกจากนี้ การรับประทานเค็มยังทำให้อัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้นตามลำดับ เนื่องจากมีผลทำให้ผนังกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายหนาตัวขึ้น และส่งผลให้อัตราการกรองของเสียผ่านไตเพื่อขับถ่ายออกทางปัสสาวะมากขึ้น
อีกทั้งการรับประทานเค็มยังทำให้อัตราการขับโปรตีนอัลบูมินออกทางปัสสาวะมากขึ้น ซึ่งการตรวจพบปริมาณอัลบูมินในปัสสาวะถือเป็นตัวบ่งชี้ของภาวะไตเสื่อมในระยะแรก หรือกล่าวง่ายๆ คือ ทำให้ไตต้องทำงานหนักมากขึ้นนั่นเอง
ในทางตรงกันข้าม จากการสำรวจประชากรที่ไม่ใช้เกลือในการปรุงอาหารเลยพบว่า ความดันโลหิตของประชากรในกลุ่มนี้ไม่ได้เพิ่มขึ้นตามอายุเช่นเดียวกับประชากรทั่วไป ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการรับประทานเค็มเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง
ผู้เป็นโรคความดันโลหิตสูงควรทำความเข้าใจในความหมายของคำว่า “เค็ม” และ “เกลือ” ตามความหมายของแพทย์ให้ถูกต้อง คำว่า “เกลือ” หรือนักวิชาการบางท่านใช้คำว่า “เกลือแกง” หมายถึง สารที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า โซเดียมคลอไรด์ (Sodiumchloride: NaCl) โดยทั่วไปใช้สำหรับปรุงอาหารเพื่อให้รสเค็ม เกลือโซเดียมมีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น และก่อให้เกิดผลเสียต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด
ดังนั้น หากแพทย์แนะนำว่าไม่ควรรับประทานเค็มจึงหมายความว่า ให้ลดปริมาณการบริโภคเกลือ รวมถึงผงชูรส เนื่องจากมีส่วนผสมของเกลือโซเดียมเช่นกัน และไม่แนะนำให้ใช้เกลือเทียม เช่น เกลือโพแทสเซียมแทนเกลือแกง เพราะอาจเป็นอันตรายในผู้ที่มีภาวะไตเสื่อมได้
ควบคุมความดันโลหิตสูง ป้องกันเสี่ยงโรคไต
ลดน้ำหนัก
หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม
ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
งดสูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่มีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นชั่วขณะ ถึงแม้ว่าการเลิกสูบบุหรี่อาจไม่มีผลต่อการลดความดันโลหิตในระยะยาว แต่จะช่วยลดการเกิดโรคหัวใจ ถุงลมโป่งพอง และมะเร็งอีกหลายชนิด ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพของผู้ป่วยและคนใกล้ชิด
ลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรจำกัดปริมาณให้น้อยกว่าวันละ 2 แก้ว
โรคความดันโลหิตสูง กับโรคไต เกี่ยวกันอย่างไร? (Hypertension and Kidney) อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/disease-conditions/247